วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ระเบียบราชการศาลทหาร (ฉบับที่3) พุทธศักราช 2545

                               ระเบียบราชการศาลทหาร (ฉบับที่3) พุทธศักราช 2545 
                                                          ...................................
                โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 และ 238 บัญญัติว่า การจับ การคุมขังบุคคลใด และการค้นในที่รโหฐาน จะต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล เว้นแต่จะมีเหตุตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจในการออกหมายอาญาจากเดิมที่มี ศาล พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และการสั่งควบคุมผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารระหว่างสอบสวน ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาทหาร มาเป็นศาลเพียงองค์กรเดียว ประกอบกับ พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2495 ได้ถูกยกเลิกไม่มีผลใช้บังคับแล้ว
                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พุทธศักราช 2498 โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงวางระเบียบราชการศาลทหารไว้ ดังต่อไปนี้
               ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบราชการศาลทหาร (ฉบับที่3) พ.ศ. 2545”
               ข้อ 2. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป
               ข้อ 3. ในกรณีที่มีระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ปฏิบัติตามระเบียบนี้แทน
               ข้อ 4. ให้ยกเลิกความในข้อ 15 ของระเบียบราชการศาลทหาร พ.ศ. 2532 และใช้ความต่อไปนี้แทน
               “ข้อ 15 การออกหมายอาญา
                      15.1 หมายขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน
                      15.1.1 การร้องขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน ต้องปรากฏความต่อศาลชัดเจนว่าผู้ต้องหาที่จะถูกคุมขังนั้น เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร และให้ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งนี้ อยู่ภายใต้บังคับในเรื่องชั้นยศทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ด้วย
                      15.1.2 เมื่อได้รับคำร้องขอให้คุมขังผู้ต้องหา ให้จ่าศาลตรวจคำร้อง เมื่อเห็นว่าถูกต้องเรียบร้อย ให้นำคำร้องเสนอต่อศาล
                      15.1.3 เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้ว ศาลจะส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ต้องหา และนัดไต่สวนโดยเร็ว
                      15.1.4 ในการไต่สวนคำร้อง ศาลจะอ่านคำร้องให้ผู้ต้องหาฟัง และถามความจำเป็นของผู้ร้อง และข้อคัดค้านของผู้ต้องหา ถ้าเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ศาลจะสั่งยกคำร้อง แต่ถ้าศาลเห็นสมควรจะออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน ตามระยะเวลาที่เห็นว่าจำเป็น และตามบทกฎหมายที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด จะต้องปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่า
                      15.1.4.1 ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดคดีอาญาร้ายแรง ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว ก็ควรถือแนวปฏิบัติในการใช้ดุลพินิจของศาลว่า หมายถึง ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
                      15.1.4.2 ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควร เชื่อว่าผู้นั้นน่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ถ้าผู้ต้องหาที่ศาลจะออกหมายขังเป็นผู้ที่ศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว หรือต้องขังตามหมายศาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีผู้ร้องขอหรือไม่ ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหานั้น โดยไม่ต้องไต่สวนถึงเหตุแห่งการออกหมายก็ได้ เว้นแต่ มีผู้กล่าวอ้างหรือปรากฏต่อศาลเองว่าไม่มีเหตุที่จะขังผู้นั้นต่อไป ก็ให้ไต่สวนหรือมีคำสั่งได้ตามที่เห็นสมควร

                      15.1.5 เมื่อผู้ร้องที่ขอให้ศาลออกหมายขัง หรืออัยการทหารร้องขอให้ศาลออกหมายปล่อย ศาลจะออกหมายปล่อยผู้ต้องหา
                      15.1.6 คำร้องขอให้คุมขังผู้ต้องหา คำร้องขอให้คุมขังผู้ต้องหาต่อหมายขังระหว่างสอบสวน และหมายปล่อย ให้ใช้แบบพิมพ์ตามท้ายระเบียบนี้
                      15.2 หมายจับ และหมายค้น
                      15.2.1 การร้องขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายค้น ต้องปรากฏความต่อศาลว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร
                      15.2.2 การร้องขอให้ศาลออกหมายจับ ให้ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี หรือศาลที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่จะทำการจับ
                      15.2.3 การร้องขอหมายค้น ให้ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่จะทำการค้น
ทั้งนี้ การร้องขอให้ศาลออกหมายจับ ตาม 15.2.2 หรือหมายค้น ตาม 15.2.3 อยู่ภายใต้บังคับเรื่องชั้นยศทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ด้วย
                      15.2.4 คำร้องขอออกหมายจับ หรือหมายค้น ให้ใช้แบบพิมพ์ตามท้ายระเบียบนี้
                      15.2.5 ให้ผู้ร้องขอหรือเจ้าพนักงานผู้ที่รับมอบหมายนำคำร้องขอออกหมายจับ หรือหมายค้น พร้อมเอกสารประกอบใส่ซองปิดผนึกยื่นต่อศาลที่ประสงค์จะขอให้ออกหมายนั้น
                       15.2.6 ให้จ่าศาลลงเลขรับไว้บนซองและลงบัญชีรับคำร้องไว้โดยไม่ต้องเปิดซอง แล้วนำซองคำร้องเสนอต่อตุลาการพระธรรมนูญเพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็ว
                       15.2.7 ก่อนออกหมายจับ จะต้องปรากฎพยานหลักฐานเพียงพอที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่าผู้จะถูกออกหมายจับน่าจะได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีขึ้นไป หรือผู้จะถูกออกหมายจับน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นน่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
                       15.2.8 ก่อนออกหมายค้นจะต้องปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่าบุคคลหรือสิ่งของที่ค้นหา น่าจะอยู่ในสถานที่ที่จะค้น
                       15.2.9 หมายค้นต้องระบุชื่อและตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้จะทำการค้นและอาจระบุชื่อผู้ที่จะทำการค้นไว้หลายคนตามคำร้องขอก็ได้หากมีเหตุสมควร กับต้องระบุวันระยะเวลาที่จะทำการค้นให้ชัดเจน หากไม่อาจระบุเวลาสิ้นสุดได้ ให้ระบุว่าค้นได้ติดต่อกันไปจนเสร็จสิ้น ในกรณีที่สถานที่ที่จะถูกค้นอยู่ห่างไกล อาจขอให้ศาลออกหมายค้นล่วงหน้าได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดี การขอหมายค้นโดยกำหนดช่วงเวลาไว้หลาย ๆ วันเพื่อเลือกทำการค้นในวันใดวันหนึ่งจะกระทำไม่ได้
                        15.2.10 คำสั่งของศาลในการอนุญาตให้ออกหมายหรือยกคำร้องจะระบุเหตุผลที่ครบถ้วนและชัดแจ้ง
                  ข้อ 5. ให้ยกเลิกความในข้อ 43 ของระเบียบราชการศาลทหาร พ.ศ. 2532 และใช้ความใหม่ต่อไปนี้แทน
                  “ข้อ 43. ให้หัวหน้าสำนักตุลาการทหารเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจออกคำสั่ง คำชี้แจง หรือระเบียบปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบนี้
                  ข้อ 6. ให้ยกเลิกแบบพิมพ์ในผนวก ก. บัญชีและแบบพิมพ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในราชการศาลทหาร (กลุ่มทั่วไป) ลำดับที่30 คำร้อง (ฝากขังครั้งแรก) หมายเลข ธน.130 และลำดับที่31 คำร้อง(ฝากขังต่อ) หมายเลข ธน.131 ท้ายระเบียบราชการศาลทหาร พ.ศ. 2532 และใช้คำร้อง (ฝากขังครั้งแรก) หมายเลข ธน.130 และคำร้อง (ฝากขังต่อ) หมายเลข ธน.131 ที่แนบท้ายระเบียบนี้แทนลำดับดังกล่าวข้างต้น
                  ข้อ 7. ให้เพิ่มแบบพิมพ์ในผนวก ก. บัญชีและแบบพิมพ์ต่างๆ ที่ใช้ในราชการศาลทหาร ท้ายระเบียบราชการศาลทหาร พ.ศ.2532 (กลุ่มทั่วไป) ดังนี้ “41. คำร้องขอให้ออกหมายจับ หมายเลข ธน.141” และ “42 คำร้องขอให้ออกหมายค้น หมายเลข ธน.142” (กลุ่มหมาย) ดังนี้ “22. หมายค้น หมายเลข ธน.219” และ “23. หมายบังคับคดี หมายเลข ธน.220” (กลุ่มบัญชีต่าง ๆ) ดังนี้ “30.บัญชีหมายค้นหมายเลข ธน.330” และ “31. บัญชีหมายบังคับคดี หมายเลข ธน.331” เป็นแบบพิมพ์ท้ายระเบียบนี้
                                 ประกาศ ณ วันที่ 11 ตุลาคม พุทธศักราช 2545
                                                                                                        พลเอก ชูชาติ สุขสงวน
                                                                                                              (ชูชาติ สุขสงวน)
                                                                                                            เจ้ากรมพระธรรมนูญ