วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

สารบัญ

กฎหมายและระเบียบ
                -  อำนาจศาลทหาร
                -  เขตอำนาจศาลทหารตามประกาศ คสช.
                -  ระเบียบราชการศาลทหาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๕
                -  ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกรณีทหารกระทำผิดอาญา พ.ศ.๒๕๔๔
                -  การจับกุมและคุมขังบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
                -  คดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารตกเป็นผู้ต้องหา
                -  การตรวจค้น จับกุม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก

คำพิพากษา
                -  ทหารกับพลเรือนต่างขับรถประมาททั้งสองฝ่าย

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

เขตอำนาจศาลทหารตามประกาศ คสช.

              ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๕ พ.ค.๒๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร  ได้ประกาศให้การกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักรและในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร
             ๑. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
                  (๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒
                  (๒) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๑๘ ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
             ๒. ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
                  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ลง ๒๕ พ.ค.๒๕๕๗ เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ได้ประกาศว่า "ถ้าคดีใดประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน แม้แต่ละอย่างจะเป็นความผิดได้ในตัวเองและไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาด้วย"
                  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ ลง ๓๐ พ.ค.๒๕๕๗ เรื่อง ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน  เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม ได้ประกาศให้
                  (๑) ให้คดีที่มีข้อหาว่ากระทำความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช ๒๔๙๐ ไม่ว่าจะมีข้อหาว่ากระทำผิดอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ที่กระทำตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ให้เป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทำเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๕๑ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช ๒๕๔๘
                  (๒) ประกาศนี้ไม่มีผลกับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว
                  (๓) ประกาศนี้ไม่มีผลกระทบคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรมในวันออกประกาศนี้

                  สรุปประกาศ คสช. ดังกล่าวข้างต้น ได้ความว่า คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ที่จะพิจารณาพิพากษา คือ
                  ๑. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๗ - ๑๑๘
                 ๒. ความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช.
                 ๓. ความผิดที่มีข้อหาบางอย่างอยู่ในอำนาจของศาลทหาร และมีข้อหาอื่นที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารรวมอยู่ด้วย
                 ๔. คดีความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม ซึ่งกระทำความผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ น.
                 ข้อยกเว้น ได้แก่
                 -  การฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ไม่มีโทษทางอาญา ศาลไม่รับฝากขัง
                 -  คดีความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ โดยทั่วไปที่ไม่ใช่อาวุธสงคราม ให้อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม และกรณีที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม ไม่ว่าจะมีความผิดอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ที่กระทำก่อนวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ น ให้อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
                 -  ต่อมา คสช. ได้มีคำสั่งที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๕ พ.ค. ๒๕๕๗ , ประกาศ ฉบับที่ ๕๓/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ และประกาศ ฉบับที่ ๕๙ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ได้ขยายระยะเวลาให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำส่งมอบให้นายทะเบียนท้องที่นับตั้งแต่วันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ ไปจนถึงวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่ต้องรับโทษ ยกเว้นที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยก่อนวันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ และอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  การปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง คสช.เกี่ยวกับอาวุธปืน

วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารตกเป็นผู้ต้องหา

               ในการสอบสวนคดีอาญาที่เกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย พนักงานสอบสวนจะต้องมีการทำสำนวนคดีที่มีความเกี่ยวพันกับการกระทำผิดที่เกิดขึ้นด้วย เช่น  สำนวนคดีอาญาที่ผู้ต้องหา(หรือผู้ตาย)กระทำผิดอาญา  สำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม  สำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอีกว่า สำนวนคดีที่เกี่ยวข้องดังกล่าวอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลใด ระหว่างศาลทหารกับศาลพลเรือน โดยต้องแยกการพิจารณาเป็น ๒ กรณี  ดังนี้
               ๑. ในคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารกระทำต่อทหารด้วยกัน
                   เป็นกรณีผู้กระทำให้ตายและผู้ตายเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร และสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องซึ่งมิได้เป็นคดีที่เกี่ยวพันหรือคดีปะปนกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ และ ๑๖  ซึ่งเรื่องนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๗๖/๒๕๑๕ (ป) และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๙๖๗/๒๕๕๖ วินิจฉัยไปในแนวทางเดียวกันว่า ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนจะทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพ แต่เฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนเท่านั้น พนักงานอัยการจะขอให้ศาลไต่สวนการตายของทหารประจำการไม่ได้ จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่า การสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลทหารย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๔๗ และ ๔๘
                  ส่วนการไต่สวนและทำคำสั่งของศาลชั้นต้นตามความในมาตรา ๑๕๐ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลชั้นต้นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในชั้นสอบสวน ซึ่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ มิได้บัญญัติวิธีการพิเศษให้ศาลทหารเข้าเกี่ยวข้องในการสอบสวนด้วย ดังนั้น การสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนย่อมไม่ต้องดำเนินการดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ วรรคห้า
               ๒. ในคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารกระทำต่อพลเรือน
                    เป็นกรณีมีสำนวนคดีที่เกี่ยวพันหรือคดีปะปนกับการกระทำผิดที่เกิดขึ้นซึ่งผู้ต้องหา(ผู้ตาย)กระทำผิดอาญาซึ่งไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนตามมาตรา ๑๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ ประกอบกับอัยการสูงสุดได้มีแนววินิจฉัยมีความเห็นไว้ว่า สำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ผู้กระทำความผิดเป็นทหาร เมื่อทหารซึ่งเป็นผู้กระทำผิดได้อ้างว่ากระทำการในฐานะเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ คดีดังกล่าวถือเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม และเนื่องจากทหารเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ แต่สำนวนวิสามัญฆาตกรรมไปเกี่ยวพันกับคดีที่ผู้ตายต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งอยู่ในอำนาจศาลพลเรือนคดี จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ เมื่อคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน การดำเนินการของพนักงานสอบสวนย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
              เมื่อได้ข้อเท็จจริงตามข้อ ๑ หรือข้อ ๒ แล้วแต่กรณี เป็นที่ชัดเจนแล้ว การส่งสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมให้พนักงานอัยการ พิจารณาจะสอดคล้องกับอำนาจและวิธีพิจารณาคดีของศาลนั้น
              สรุป.- คดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารฆ่าทหารตาย พนักงานอัยการจะขอให้ศาลไต่สวนการตายของทหารประจำการไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหารฯ มิได้บัญญัติวิธีการพิเศษให้ศาลทหารเข้าไปเกี่ยวข้องในการไต่สวนการตายหรือการสอบสวนนั้นด้วย ดังนั้น เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนย่อมไม่ต้องดำเนินการดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๐ วรรคสาม  ส่วนคดีที่ทหารฆ่าพลเรือนนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน ดังนั้น พนักงานอัยการจึงขอให้ศาลไต่สวนการตายของพลเรือนได้
            (ที่มา : หนังสือ กองคดีอาญา ที่ ๐๐๑๑.๒๒/๒๑๒๔ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๘ เรื่อง หารือการส่งสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารตกเป็นผู้ต้องหา , หนังสือสำนักงานยุติธรรม ที่ ศย ๐๑๖/๕๒๘๔๘ ลง ๒ ต.ค.๒๕๕๗ เรื่อง หารือเหตุขัดข้องการส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ)

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทหารกับพลเรือนต่างขับรถโดยประมาททั้งสองฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๑๐๔/๒๕๑๓
พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๔, ๑๕ วรรคหนึ่ง
ป.อ. มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐, ๓๙๐
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๒๒/๒๕๑๓)
           พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ บัญญัติว่า "คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คือ
           (๑) คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
           (๒) คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
           (๓) คดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน
           (๔) คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร"
           และมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า   "คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน"
           ฉะนั้น ถ้าคดีนี้ตกอยู่ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน ๔ ประการของมาตรา ๑๔ แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารอันมีผลตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง คือต้องดำเนินคดีส่งฟ้องต่อศาลพลเรือน
            ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็บรรยายว่า จำเลยกระทำผิดโดยประมาทและความตายของพลทหาร ป. เกิดขึ้นเพราะความประมาทของพลเรือนที่หลบหนีไปซึ่งขับรถโดยประมาท กับจำเลยซึ่งขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวและชนกัน
           กรณีจึงเห็นได้ว่า ถ้าไม่เป็นเพราะจำเลยและพลเรือนกระทำผิดโดยประมาทด้วยกัน ความตายของผู้ตายก็เกิดขึ้นไม่ได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีเช่นนี้ตกอยู่ในบทบัญญัติมาตรา ๑๔ (๑) ที่ว่า "คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน" คำว่า "ด้วยกัน" ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องที่ทหารกับพลเรือนได้ร่วมกันกระทำความผิดตามมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาเสมอไป
          แม้ทหารจะกระทำผิดฐานประมาทและพลเรือนก็กระทำผิดฐานประมาท แล้วเป็นเหตุให้คนถึงแก่ความตายอย่างเช่นคดีนี้ ก็เป็นเรื่องที่ "กระทำผิดด้วยกัน" ด้วย เมื่อคดีนี้เป็นคดีตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๑๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ จึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารต้องดำเนินคดีนี้ต่อศาลพลเรือนตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ศาลพลเรือนประทับรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การตรวจค้น จับกุม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นจับกุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก
ตามหนังสือที่ ตร ๐๐๑๑.๒๕/๒๙๐๘ ลง ๕ ก.ย.๒๕๕๗  

             สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ซักซ้อมเพื่อทราบและกำหนดแนวทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดถือปฏิบัติ ดังนี้
             ๑.  การดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญาในหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งรวมถึงการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิด ให้ถือปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. โดยเคร่งครัด
             ๒.  กรณีที่ได้รับคำสั่งหรือได้รับการประสานงานจากฝ่ายทหารให้ร่วมปฏิบัติในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎอัยการศึก โดยเฉพาะการตรวจค้น ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับคำสั่งหรือการประสานงาน ปฏิบัติตามมาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ ซึ่งบัญญัติว่า
                  "ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร"
                  ซึ่งหมายความว่า ในการตรวจค้นตามอำนาจกฎอัยการศึกจะต้องเป็นการใช้อำนาจโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปร่วมปฏิบัติเป็นการดำเนินการตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
             ๓. ในการดำเนินการตามข้อ ๒ เมื่อมีการตรวจค้นหรือจับกุมผู้กระทำความผิดจะต้องบันทึกให้ปรากฏข้อเท็จจริงหรือการประสานงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ สิ่งของหรือการกระทำที่ตรวจพบ ผลการดำเนินการ ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

             สรุป ตามความเห็นของผู้เขียนให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
             ตามข้อ ๑. ให้เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ว่าด้วยการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิด ถ้าเป็นเด็กหรือเยาวชนก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ (คลิกดูที่นี่) เสมือนว่าไม่มีทหารมาร่วมปฏิบัติการด้วย
             ตามข้อ ๒. ให้เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งหรือได้รับการประสานงานจากฝ่ายทหารเท่านั้น แต่เจ้าพนักงานตำรวจจะร้องขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมาใช้อำนาจตรวจค้นในคดีอาญา แทนการร้องขอหมายค้นจากศาล ตามความต้องการของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้
             ตามข้อ ๓. หากมีการตรวจค้นเสร็จแล้ว ต้องมีการบันทึกให้ปรากฏว่า ได้รับการประสานงานอย่างไร ด้วยเหตุผลใด พบสิ่งของใดบ้าง และพฤติการณ์แห่งคดีเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องร่วมกันลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจค้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป

             นอกจากนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีหนังสือแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็ม ที่จะตรวจค้นได้ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกษา พ.ศ.๒๔๕๗ มาตรา ๘ โดยไม่ต้องมีหมายค้น ตาม ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่องประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พ.ค.๒๕๕๗ เวลา ๐๓.๐๐ น. เป็นต้นไป  ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษไม่อยู่ภายใต้บังคับตาม ป.วิ.อ.
             อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจับกุมเด็กหรือเยาวชนได้ แม้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจะมีอำนาจตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้น แต่การที่จะทำการจับกุมเด็กหรือเยาวชนได้ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๖๖ มิฉะนั้น จะเป็นการจับโดยมิชอบ