แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นจับกุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก
ตามหนังสือที่ ตร ๐๐๑๑.๒๕/๒๙๐๘ ลง ๕ ก.ย.๒๕๕๗
๑. การดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญาในหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งรวมถึงการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิด ให้ถือปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. โดยเคร่งครัด
๒. กรณีที่ได้รับคำสั่งหรือได้รับการประสานงานจากฝ่ายทหารให้ร่วมปฏิบัติในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎอัยการศึก โดยเฉพาะการตรวจค้น ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับคำสั่งหรือการประสานงาน ปฏิบัติตามมาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ ซึ่งบัญญัติว่า
"ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร"
ซึ่งหมายความว่า ในการตรวจค้นตามอำนาจกฎอัยการศึกจะต้องเป็นการใช้อำนาจโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปร่วมปฏิบัติเป็นการดำเนินการตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
๓. ในการดำเนินการตามข้อ ๒ เมื่อมีการตรวจค้นหรือจับกุมผู้กระทำความผิดจะต้องบันทึกให้ปรากฏข้อเท็จจริงหรือการประสานงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ สิ่งของหรือการกระทำที่ตรวจพบ ผลการดำเนินการ ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สรุป ตามความเห็นของผู้เขียนให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
ตามข้อ ๑. ให้เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ว่าด้วยการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิด ถ้าเป็นเด็กหรือเยาวชนก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ (คลิกดูที่นี่) เสมือนว่าไม่มีทหารมาร่วมปฏิบัติการด้วย
ตามข้อ ๒. ให้เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งหรือได้รับการประสานงานจากฝ่ายทหารเท่านั้น แต่เจ้าพนักงานตำรวจจะร้องขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมาใช้อำนาจตรวจค้นในคดีอาญา แทนการร้องขอหมายค้นจากศาล ตามความต้องการของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้
ตามข้อ ๓. หากมีการตรวจค้นเสร็จแล้ว ต้องมีการบันทึกให้ปรากฏว่า ได้รับการประสานงานอย่างไร ด้วยเหตุผลใด พบสิ่งของใดบ้าง และพฤติการณ์แห่งคดีเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องร่วมกันลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจค้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีหนังสือแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็ม ที่จะตรวจค้นได้ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกษา พ.ศ.๒๔๕๗ มาตรา ๘ โดยไม่ต้องมีหมายค้น ตาม ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่องประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พ.ค.๒๕๕๗ เวลา ๐๓.๐๐ น. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษไม่อยู่ภายใต้บังคับตาม ป.วิ.อ.
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจับกุมเด็กหรือเยาวชนได้ แม้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจะมีอำนาจตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้น แต่การที่จะทำการจับกุมเด็กหรือเยาวชนได้ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๖๖ มิฉะนั้น จะเป็นการจับโดยมิชอบ