วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารตกเป็นผู้ต้องหา

               ในการสอบสวนคดีอาญาที่เกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย พนักงานสอบสวนจะต้องมีการทำสำนวนคดีที่มีความเกี่ยวพันกับการกระทำผิดที่เกิดขึ้นด้วย เช่น  สำนวนคดีอาญาที่ผู้ต้องหา(หรือผู้ตาย)กระทำผิดอาญา  สำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม  สำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอีกว่า สำนวนคดีที่เกี่ยวข้องดังกล่าวอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลใด ระหว่างศาลทหารกับศาลพลเรือน โดยต้องแยกการพิจารณาเป็น ๒ กรณี  ดังนี้
               ๑. ในคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารกระทำต่อทหารด้วยกัน
                   เป็นกรณีผู้กระทำให้ตายและผู้ตายเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร และสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องซึ่งมิได้เป็นคดีที่เกี่ยวพันหรือคดีปะปนกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ และ ๑๖  ซึ่งเรื่องนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๗๖/๒๕๑๕ (ป) และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๙๖๗/๒๕๕๖ วินิจฉัยไปในแนวทางเดียวกันว่า ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนจะทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพ แต่เฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนเท่านั้น พนักงานอัยการจะขอให้ศาลไต่สวนการตายของทหารประจำการไม่ได้ จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่า การสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลทหารย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๔๗ และ ๔๘
                  ส่วนการไต่สวนและทำคำสั่งของศาลชั้นต้นตามความในมาตรา ๑๕๐ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลชั้นต้นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในชั้นสอบสวน ซึ่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ มิได้บัญญัติวิธีการพิเศษให้ศาลทหารเข้าเกี่ยวข้องในการสอบสวนด้วย ดังนั้น การสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนย่อมไม่ต้องดำเนินการดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ วรรคห้า
               ๒. ในคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารกระทำต่อพลเรือน
                    เป็นกรณีมีสำนวนคดีที่เกี่ยวพันหรือคดีปะปนกับการกระทำผิดที่เกิดขึ้นซึ่งผู้ต้องหา(ผู้ตาย)กระทำผิดอาญาซึ่งไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนตามมาตรา ๑๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ ประกอบกับอัยการสูงสุดได้มีแนววินิจฉัยมีความเห็นไว้ว่า สำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ผู้กระทำความผิดเป็นทหาร เมื่อทหารซึ่งเป็นผู้กระทำผิดได้อ้างว่ากระทำการในฐานะเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ คดีดังกล่าวถือเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม และเนื่องจากทหารเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ แต่สำนวนวิสามัญฆาตกรรมไปเกี่ยวพันกับคดีที่ผู้ตายต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งอยู่ในอำนาจศาลพลเรือนคดี จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ เมื่อคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน การดำเนินการของพนักงานสอบสวนย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
              เมื่อได้ข้อเท็จจริงตามข้อ ๑ หรือข้อ ๒ แล้วแต่กรณี เป็นที่ชัดเจนแล้ว การส่งสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมให้พนักงานอัยการ พิจารณาจะสอดคล้องกับอำนาจและวิธีพิจารณาคดีของศาลนั้น
              สรุป.- คดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารฆ่าทหารตาย พนักงานอัยการจะขอให้ศาลไต่สวนการตายของทหารประจำการไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหารฯ มิได้บัญญัติวิธีการพิเศษให้ศาลทหารเข้าไปเกี่ยวข้องในการไต่สวนการตายหรือการสอบสวนนั้นด้วย ดังนั้น เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนย่อมไม่ต้องดำเนินการดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๐ วรรคสาม  ส่วนคดีที่ทหารฆ่าพลเรือนนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน ดังนั้น พนักงานอัยการจึงขอให้ศาลไต่สวนการตายของพลเรือนได้
            (ที่มา : หนังสือ กองคดีอาญา ที่ ๐๐๑๑.๒๒/๒๑๒๔ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๘ เรื่อง หารือการส่งสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ทหารตกเป็นผู้ต้องหา , หนังสือสำนักงานยุติธรรม ที่ ศย ๐๑๖/๕๒๘๔๘ ลง ๒ ต.ค.๒๕๕๗ เรื่อง หารือเหตุขัดข้องการส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ)